สินค้า

โทรหาเรา: 086-998-0850

วิวัฒนาการเกี่ยวกับ ยาสมุนไพรตำรับไทย และ องค์การเภสัชกรรม

วิวัฒนาการเกี่ยวกับยาสมุนไพรตำรับไทยและองค์การเภสัชกรรม

          ความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นสิ่งธรรมดาของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า และเมื่อมีความเจ็บป่วยมนุษย์ก็ต้องพยายามหาทางแก้ไข บำบัด เพื่อความอยู่รอด มีประวัติที่อ้างอิงได้ว่า มนุษย์เรารู้จักเก็บตัวยาจากพืชมารักษาความเจ็บไข้นับเป็นเวลา ก่อนคริสตกาล ประมาณ3,600 ปี และก็ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับแต่ละยุคแต่ละสมัย เพื่อให้มีผลต่อการรักษา มีรูปร่าง กลิ่น รส เมาะสมแก่การใช้ในการรักษาโรค

          สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ก่อนจะมาถึงปัจจุบันและกว่าจะมาถึงการที่องค์การเภสัชกรรมมีบทบาท ในการผลิตยาอยู่ในขณะนี้นั้น ก็ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ โดยบรรพชนของเราได้ช่วยกันสร้างสมบารมี ลงแรงกายใจตลอดมา ทุกยุค ทุกสมัย สมควรอย่างยิ่งที่ผู้ที่ถือประโยชน์ในปัจจุบัน จะได้รับรู้ความเป็นมาและทราบถึงความเพียรพยายามของบรรพบุรุษเราว่า ได้ทำอะไรไว้ในเรื่องยาบ้างจนเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเราในปัจจุบันนี้

ยาสมุนไพรตำรับไทยสมัยอยุธยา

          ยาและการรักษาโรค มีวิวัฒนาการควบคู่มากับวิชาแพทย์ไทย พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ซึ่งเป็นคณะกรรมการท่านหนึ่งในการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช เมื่อ100 ปีเศษ มาแล้วได้ทรงนิพนธ์เรื่อง "แพทย์หมอ" สรุปได้ว่าวิชาแพทย์ (มักเรียกว่า "หมอแพทย์" เพราะ "หมอ" คำเดิม แปลว่า ผู้ชำนาญ) ได้แพร่หลายในเมืองไทยมาช้านานแล้ว โดยได้รับมาจากชาวมคธ หรือฮินดู ยาแก้โรคต่าง ๆ ก็ได้จากการสังเกตและแก้ไขทดลองของคนโบราณจนตั้งเป็นตำราได้ว่า เมื่อเกิดเป็นโรค ไม่สบาย อย่างไร จะกินจะทาอะไรจึงจะหาย และเพื่อให้บรรดาหยูกยาต่าง ๆ ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น จึงมักจะอ้างว่าเป็นตำราที่เทวดา หรือฤาษีมอบให้

          แม้ว่า ตั้งแต่โบราณมาจนกระทั่งถึงสมัยอยุธยา ในเมืองไทยนั้นมีชาวต่างประเทศจากใกล้เคียงได้เดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และทำมาหากินอยู่มากมายหลายชาติ นอกจากชาวจีนแล้ว ยังมีชาวอินเดีย มลายู อินโดนิเซีย มอญ พม่า ญี่ปุ่น เป็นต้น ชนเหล่านี้ย่อมจะมีหมอของตนเข้ามาด้วย ซึ่งก็มีวิธีการรักษาพยาบาลตามแบบอย่างของเขา แต่ทั้ง ๆ ที่วิธีการรักษาโรคของชนชาติของถิ่นเอเซียเหล่านี้ ไม่แตกต่างกันนัก แต่พวกหมอของแต่ละชาติ (รวมทั้งของไทยเราด้วย) มักจะถือตัว ถือตำรา และครู ไม่ลอกเอาแบบของหมอชาติอื่นมาใช้ปนกับวิธีรักษาของตน ซึ่งเป็นเหตุให้หมอแผนโบราณของไทย เก็บรักษาวัฒนธรรมในการรักษาพยาบาลดั้งเดิมที่ได้มีต้นตอมาจากอินเดียไว้ได้ ไม่ใคร่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าจะมีบ้างก็น้อยมาก เป็นเช่นนี้กระทั่งมีชาวยุโรปได้ทะยอยเดินทางด้วยเรือสำเภา เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา เริ่มตั้งแต่ชาวโปรตุเกส เข้ามาใน พ.ศ. 2054 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2

          การแพทย์แผนโบราณถือว่าพืชทุกอย่างมีสรรพคุณเป็นยาทั้งนั้น พืชที่หมอไทยแผนโบราณนำมาใช้ทำยานี้ มักจะเรียกรวม ๆ ว่า "เครื่องสมุนไพร" อาจจะใช้ส่วนใดหรือทุกส่วน นับแต่ราก เปลือก แก่น ใบ ดอก ผล และยาง ทั้งที่เป็นพืชในเมืองไทยและพืชที่มาจากต่างประเทศ

          ลาลูแบร์ อัครราชฑูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2271 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงสภาพของหมอไทย สมัยนั้นว่า ไม่พยายามที่จะศึกษาสรรพคุณของตัวยาแต่ละชนิด นอกจากจะถือเอาตามตำรา ที่ปู่ย่าตายายสั่งสอนกันต่อ ๆ มาเท่า นั้น และกล่าวด้วยว่า หมอในเมืองไทยขณะนั้น เหมือนหมอบ้านนอก ของฝรั่งเศส คือเป็นทั้งหมอและเป็นเภสัชกรไปด้วย

ร้านขายยาสมัยอยุธยา

          จากหนังสือ "คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม" ได้กล่าวว่า ในปลายสมัยอยุธยาบนตัวเกาะกรุงศรีอยุธยา มีร้านขายเครื่องสมุนไพรให้แก่ชาวบ้านทั่วไป "ถนนย่านป่ายา มีร้านขายเครื่องเทศ เครื่องไทยครบสรรพคุณยาทุกสิ่ง ชื่อตลาดป่ายา" และในหนังสือ อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา กับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ฉบับชำระครั้งที่ 2 ได้กล่าวถึงย่านและตลาดต่าง ๆ ในกำแพงพระนครศรีอยุธยา ตอนหนึ่งว่า "ย่านป่ายาขายสรรพเครื่องเทศ เครื่องไทย เป็นสรรพคุณยาทุกสิ่ง " ทั้งยังมีถนนหลวงสายหนึ่งเรียกว่าถนนป่ายา

          นอกจากนั้น คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ฉบับเดียวกันยังได้กล่าวถึง โรงนำยาหลวงซึ่งเรียกว่า "โรงพระโอสถ" อยู่ไม่น้อยกว่า 2 โรงว่า "นอกประตูไพชยนต์นี้ มีโรงพรโอสถฯ" และ "มีโรงพระโอสถตั้งอยู่หน้าสวนองุ่น" โรงพระโอสถหลวงนี้ นอกจากจะปรุงยาใช้ในพระราชวังแล้ว ยังเตรียมทำยาสำหรับใช้ในกองทัพ เมื่อออกไปทำสงครามด้วย

ยาสมุนไพรตำรับไทยสมัยรัตนโกสินทร์

          เนื่องจากการแพทย์ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จกกระพุทธยอดฟ้ามหาราช เป็นการแพทย์แผนเดิมสืบต่อมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นยาที่ใช้ก็คงใช้สมุนไพรและซากสัตว์ วัตถุธาตุ เป็นวัตถุในการปรุงยาเหมือนเดิม ในรัชสมัยนี้ได้ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัดโพธาราม ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมัคลารามและทรงโปรดให้ "ตั้งตำรายา และฤษีดัดตนไว้เป็นทาน…." นับเป็นจุดแรกของการรวบรวมตำรายาเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเสิศหล้านภาลัย มีพระราชโองการโปรดเกล้าให้พระพงศ์นรินทร์ราชนิกูล กระโอรสของพระบาทสมเก็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเวลานั้น รับราชการอยู่กรมหมอ เป็นผู้สืบเสาะหาตำรายารักษาโรคทั้งหลายจากพระราชา คณะข้าราชการ ตลอดจนราษฎร ผู้ใดมีตำราดีขอให้จดมาถวาย ครั้งนั้นมีผู้จัดตำรายาถวายเป็นจำนวนหลายฉบับด้วยกัน หมอหลวงได้ตรวจสอบและจดลงเป็นตำราไว้

          ในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีพระราชโองการให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเซตุพนฯอีก และทรงสนพระทัยในการแพทย์ และทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงโปรดเกล้าฯให้รวบรวม เลือกสรรตำราต่าง ๆ ที่สมควรจะเรียนมาตรวจแก้ไข ใช้ของเดิมบ้างประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้น ๆ ให้แต่งขึ้นใหม่บ้างแล้วโปรดให้จาลึกแผ่นศิลา ประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ

          ประมาณ พ.ศ.2371 (ค.ศ.1828) อันเป็นปีที่ 5 ในรัชกาลที่ 3 การแพทย์แผนปัจจุบันได้เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์ โดยมีวิวัฒนาการอย่างมั่นคงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้โดยการนำมาของคณะเผยแพร่ศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสเตนท์ ของอเมริกัน

          การแพทย์ของไทยในยุคนี้ เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างการแพทย์แผนโบราณและแผนปัจจุบัน โดยการแพทย์แผนปัจจุบันได้วิวัฒนาการแทรกซึมการแพทย์แผนโบราณทีละเล็กละน้อยอย่างเชื่องช้าแต่มั่นคง จนถึง พ.ศ.2431 อันเป็นปีที่ 21 ในแผ่นดินสมเด็จพระปิยะมหาราช รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างศิริราชพยาบาล และตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น นับเป็นปีแรกเริ่มศักราชของการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

          การเริ่มต้นของโรงเรียนแพทย์ยังยึดหลักผสมผสานแผนโบราณเข้ากับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยถ้าเป็นการรักษาทางยา ใช้ครูแผนโบราณ แต่การรักษาบาดแผล การผ่าตัดใช้แผนปัจจุบัน ซึ่งมีฝรั่งเป็นผู้สอน

          คนไทยได้รับอิทธิพลของการแพทย์ตะวันตกมากขึ้นทุกที ๆ แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ไว้ใจเมื่อเริ่มสร้างศิริราชพยาบาลและตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นแล้ว ก็ยังมีผู้นิยมการแพทย์ไทยมากกว่าฝรั่ง คนที่กล้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมีเพียงจำนวนน้อย ส่วนมากกลัวหมอฝรั่ง ทางการต้องออกอุบายต่าง ๆ เพื่อชักชวนคนไข้ให้ไปโรงพยาบาล เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าให้ตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์ขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช ทางการต้องประกาศให้เงินแก่ผู้ที่ไปคลอดบุตร และยังแถมเบาะและผ้าอ้อมให้อีกด้วย วิธีการเหล่านั้น ผสมกับความเพียรพยายามของผู้ใหญ่ในวงการแพทย์และการศึกษา ทำให้ประชาชนค่อย ๆ เชื่อมใจในคุณประโยชน์ของการแพทย์แบบใหม่มากขึ้น ความสำเร็จของพระบรมราชชนกฯ(เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช สมเด็จพระราชบิดา) ในการชัดจูงให้มูลนิธิร็อคคิเฟลเลอร์ รับช่วยปรับปรุง โรงเรียนแพทย์ให้ทันสมัยและยกระดับถึงขั้นปริญญา ทำให้มีบัณฑิตออกไปช่วยบำบัดโรคภัยให้แก่ประชาชนอย่างได้ผลประจักษ์ความเชื่อของประชาชนจึงเปลี่ยนแปลงไป การค้นพบแอนติไอโอติคในระหว่างสงครามโลกและการแพร่กระจายของยาสมัยใหม่ในชนบททำให้การแพทย์แบบไทยต้องพ่ายแพ้แก่การแพทย์แบบตะวันตกอย่างเด็ดขาด

โอสถสภา-โอสถศาลา-โรงงานเภสัชกรรม

          ยาแผนปัจจุบัน ได้ค่อย ๆ ทวีความนิยมในประชาชนคนไทย พร้อม ๆ กันกับความนิยมของประชาชนที่มีต่อการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์แผนปัจจุบันก็ได้เจริญจากกรุงเทพมหานครออกสู่ชนบท พร้อม ๆ กับการเจริญเติบโตของกิจการสาธารณสุขของประเทศซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการจัดตั้งหน่วยงานของทางราชการที่เกี่ยวกับสาธารณสุข อันพอจะสรุปได้ ดังนี้

          พ.ศ. 2429 ตั้ง "คอมมิตตี จัดการโรงพยาบาล" สร้างโรงพยาบาลที่วังหลังธนบุรี (ศิริราชพยาบาล) 25 ธันวาคม 2431 ตั้งกรมพยาบาลขึ้นแทน คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาลที่พ้นหน้าที่ไป

          พ.ศ. 2434 จัดระบบบริหารราชการแผ่นดินใหม่เป็น 12 กระทรวง จัดให้กรมพยาบาลอยู่ในสังกัดของกระทรวงธรรมการ

          พ.ศ. 2444 มีการตั้งโอสถศาลารัฐบาลอยู่ในกรมพยาบาลเป็นที่สะสมยา

          พ.ศ. 2451 โอนกิจการและกองต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน ตลอดจนแพทย์ประจำเมืองมาสังกัดในกรมกระทรวงมหาดไทย

          พ.ศ. 2455 ตั้งกรมพยาบาลขึ้นใหม่อีกในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีแผนกโอสถศาลารัฐบาล เป็นแผนกหนึ่งใน 6 แผนก

          พ.ศ. 2459 เปลี่ยนชื่อกรมพยาบาล เป็นกรมประชาภิบาล

          พ.ศ. 2461 เปลี่ยนชื่อกรมประชาภิบาลเป็นกรมสาธารณสุข (รวมกิจการสาธารณสุขที่แยกย้ายกันอยู่หลายกระทรวง ให้มารวมเป็นส่วนราชการเดียวกัน)

          พ.ศ. 2478 ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรมซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ ได้พิจารณาเห็นว่าประเทศไทยควรมีโรงงานผลิตยาเองพนื่องจากสมุนไพรและวัตถุดิบในประเทศก็มี และเป็นการป้องกันไม่ให้เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ นอกจากนี้ประเทศเราจะได้มียาสำรองไว้ใช้สำหรับประชาชนในยามคับขันอีกด้วย ดังนั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2482 ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม จึงได้จัดการสร้างโรงงานเภสัชกรรมขึ้น ณ ตำบลพญาไท ในเนื้อที่ประมาณ47 ไร่ ในระยะแรกได้ผลิตยาจำพวกทิงเจอร์ ยาสะกัด ยาเม็ด ยาฉีด ปละโอนเอายาสะกัดวิตามินบีกับการทำยาน้ำมันกระเบา ซึ่งเดิมกองอุตสาหกรรมเคมีทำอยู่มาจัดทำด้วย

          ปลายปี 2483 เนื่องจากทางราชการเห็นว่าโรงงานเภสัชกรรม ดำเนินการในรูปธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมยามากกว่าวิชาการจึงแยกโรงงานเภสัชกรรมออกจากกรมวิทยศาสตร์

          พ.ศ. 2485 รัฐบาลมีนโยาบายที่จะปรับปรุงการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงได้รวบรวมกิจการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งแยกย้ายอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ (ยกเว้นการแพทย์ของทหาร ตำรวจ และกรมรถไฟ) มาตั้งเป็น "กระทรวงสาธารณสุข" โดยโรงงานเภสัชกรรมสังกัดอยู่ในกองเภสัชกรรม และกองโอสถศาลาก็ย้ายมาสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งในขณะนั้นกองโอสถศาลาก็คงยังผลิตยาตำราหลวง ให้แก่หน่วยงานราชการทั่วราชอาณาจักรและดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์ดังนี้คือ
          1. จัดซื้อยา และเวชภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายแก่หน่วยราชการ 
          2.
เก็บสะสมยาที่จำเป็นทั้งในเวลาปกติและสำหรับยาฉุกเฉิน 
          3.
ควบคุมคุณภาพและราคายา

          พ.ศ. 2487 กองโอสถศาลา ได้มอบหน้าที่การผลิตยาตำราหลวงให้แก่โรงงานเภสัชกรรม โรงงานเภสัชกรรมจึงได้ปรับปรุงรายการยาตำราหลวงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงรวมแล้วทั้งสิ้น 24 ขนาน ส่วนการจำหน่ายนั้นกองโอสถศาลาเป็นผู้รับผิดชอบ

          พ.ศ. 2485 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้โรงงานเภสัชกรรมพ้นจากสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจบริหารงานโดยคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข

ยาโอสถสภา (ยาตำราหลวง)

          ความคิดที่จะทำให้ยาดีสำหรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บแพร่หลายไปถึงมือราษฏรตามชนบทโดยสะดวกทั่วกัน ได้เกิดขึ้นภายหลังที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงย้ายมาจากกระทรวงธรรมการไปเป็นเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยแล้วเกือบ 10 ปี ถึงแม้การทำยารักษาในระยะนั้นจะเป็นหน้าที่ของกรมพยาบาลในสังกัดกระทรวงธรรมการ แต่เนื่องจากการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ราษฎรตามหัวเมือง (ในสมัยนั้นเรียกว่า "การสาธารณพยาบาล") เป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับกระทรวงธรรมการ ไม่มีกำลังพอที่จะดูแลอุดหนุนการอนามัยในหัวเมืองให้บังเกิดผลดีทั่วถึงกันได้ ที่ประชุมเทศาภิบาจึงมอบภาระในเรื่องยารักษาโรคที่จะส่งไปช่วยเหลือราาฎรชนบทนั้นให้กระทรวงมหาดไทยคือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงคิดอ่านดำเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นผลสำเร็จต่อไปด้วยพระองค์ท่านทรงรอบรู้ในเรื่องการอนามัยดีอยู่แล้ว (ด้วยเหตุนี้ในการประชุมเทศาภิบาล ร.ศ. 125 และ ร.ศ.126 (พ.ศ.2449 -2450 ) นั้นเมื่อจะมีการชี้แจงเกี่ยงกับการอนามัยครั้งใด เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกรเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งเป็นเจ้าสังกัดของราชการเกี่ยวกับการแพทย์ในส่วนภูมิภาคในครั้งกระนั้น จึงต้องกราบทูลเชิญเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ทรงชี้แจงพระดำริทุกครั้ง)

          เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรับธุระจะจัดการในเรื่องยารักษาโรคแล้วทรงพิจารณาปัญหาในชั้นแรกว่า ควรจะทำยารักษาโรคอะไรบ้าง ข้อหนึ่ง และยาที่ทำนั้นควรจะใช้ยาตามตำรับยาฝรั่งหรือตำรับไทยอีกข้อหนึ่ง ในที่สุดทรงตัดสินพระทัยที่จะใช้ยาฝรั่ง เพราะมีสรรพคุณชะงัดกว่ายาสมุนไพรตำรับไทย ทั้งยังสามารถจะบรรจุกลักส่งไปตามที่ต่าง ๆ ได้สะดวกด้วย สมเด็จพรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงเชิญแพทย์ฝรั่งทุกชาติ (ส่วนมากเป็นแพทย์มิชชันนารี) ไปประชุมพร้อมกันที่กระทรวงมหาดไทยวันหนึ่ง ทรงชี้แจงแก่แพทย์ฝรั่งว่า รัฐบาลอยากจะได้ตำรับยาฝรั่งบางขนานสำหรับรักษาโรคที่ราษฎรชนบทมักเป็นกันชุกชุม จึงทรงมีพระประสงค์จะให้แพทย์ฝรั่งเหล่านั้นปรึกษากันว่าควรจะทำยาแก้โรคอะไรบ้าง และขอให้จดเครื่องยากับส่วนผสมให้ด้วย แพทย์ฝรั่งพร้อมกันรับจะช่วยให้ตามประสงค์ของรับบาล เมื่อปรึกษาหารือในระหว่างกันเองแล้ว บรรดาแพทย์ฝรั่งตกลงแนะนำให้รัฐบาลทำยาต่าง ๆ 8 ขนาน และกำหนดเครื่องยากับทั้งส่วนผสมยานั้น ๆ ทุกขนาน มอบตำรับยาให้เป็นสมบัติของรัฐบาลส่วนราชการที่จะทำยานั้น หมออะดัมสัน (พระบำบัดสรรพโรค) เอื้อเฟื้อรับทำให้ขั้นแรก ณ ร้านขายยาของเขาที่สี่กั๊กพระยาศรี โดยขอคิดราคาเพียงเท่าทุน และช่วยฝึกหัดคนที่จะผสมยาให้ด้วยจนกว่ากระทรวงธรรมการจะตั้งสถานที่ทำยาแล้วเสร็จและเปิดทำการได้เอง

ยาโอสถสภา 8 ขนาน ที่ทำขึ้นมีดังนี้ 
          1.
ยาแก้ไข้ (ควินิน) 
          2.
ยาถ่าย 
          3.
ยาแก้ลงห้อง 
          4.
ยาแก้โรคไส้เลือน 
          5.
ยาแก้โรคบิด 
          6.
ยำบำรุงโลหิต 
          7.
ยาแก้คุดทะราดและเข้าข้อ 
          8.
ยาแก้จุกเสียด (โซดามินท์)

          เนื่องจากยาโอสถสภาที่ทำขึ้นนี้ยังเป็นของใหม่ ราษฎรชนบทไม่ใคร่นิยมใช้กัน ในเวลาต่อมากระทรวงมหาดไทยจึงจัดให้ประชุมแพทย์ไทยจัดหายาสมุนไพรตำรับไทย เช่นยาเขียว ยาหอม และยาแก้ไข้ แก้ทองเสีย แล้วลองให้แพทย์ไทยจำหน่ายจากโอสถศาลา ก็ปรากฏว่าจำหน่ายได้ยาก เมื่อกระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโอสถศาลารัฐบาลขึ้นที่สะพานนพวงศ์ ตรงข้ามโรเรียนเทพศิรินทร์ (พ.ศ.2444 ) และดำเนินการผลิตยาโอสถสภาได้เองแล้ว ได้ผลิตยาโอสถสภาแผนโบราณออกจำหน่ายด้วย ยาแผนโบราณของโอสถศาลามีหลายขนานเช่นยาธาตุบรรจบ ยาจันทรลีลา ยาสุขไสยาสน์ ยากำลังราชสีห์ ยาหอมอินทรจักร เป็นต้น

          ยาโอสถสภาแผนปัจจุบัน 8 ขนานนั้น ทำเป็นเม็ดบรรจุลักเล็ก ๆ ประมาณกลักละ 20 เม็ด ข้างในหลับมีกระดาษใบปลิว บอกวิธีที่จะใช้ยานั้น แล้วรวมกลักยาห่อเป็นชุด ๆ มีใบปลิวโฆษณาสรรพคุณของยาโอสถสภาสอดไปด้วย ข้อความชี้แจงวิธีใช้นั้น ได้พิมพ์ไว้ทั้งภาษาไทย จีน ลาว มลายู และอังกฤษ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแนะนำให้กระทรงธรรมการใช้กระดาษสีต่าง ๆ ทำเป็นใบชี้แจงวิธีใช้ยาอย่างใดก็ให้ใช้สีนั้นประจำอย่างละสี เพื่อจะได้เป็นที่สังเกตง่าย ใครเคยใช้มาแล้วเห็นแต่กระดาษห่อรู้ได้ทีเดียวว่า เป็นยาแก้โรคอะไร อนึ่ง เพื่อจะให้ยาได้แพร่หลายไปในหมู่ราษฎรชนบทที่ยากจนจึงได้จำหน่ายโดยราคาถูก คือ ขายปลีกเสมอกลักละเฟื้อง ผู้ใดรับเหมาไปจำหน่ายมาก ๆ ยอดขายให้ราคาเพียง 12 กลักบาท คือให้มีส่วนลดถึง 50% ถึงกระนั้นในตอนแรกก็ยังไม่เป็นที่นิยมแก่ราษฎรตามหัวเมือง ด้วยขาดผู้จะชี้แจงสรรพคุณของยาให้ราษฎรนิยมและทดลองใช้ พากันเข้าเสียว่า ยาโอสถสภาเป็นยาสูง ถ้าใช้ยานี้แล้วโรคไม่หายจะใช้ยาอื่นไม่ได้ แม้แพทย์ประจำตำบลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ที่จะชี้แจงกับราษฎรก็ยังมีบางคนเข้าใจผิดอยู่เช่นนั้นที่รับยาไปจำหน่ายมักจะรับไปเพราะคามเกรงใจ รับเอาไว้เกือบปีแล้วนำยามาคืนก็มี บางคนที่เกรงใจไม่นำมาคืน ทิ้งไว้ให้ขึ้นราอยู่ที่บ้าน ยอมขาดทุนก็มีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทราบความขัดข้องก็ได้ทรงพยายามหาทางแก้ไขด้วยอุบายต่าง ๆ เช่นเปิดดวงเงินเชื่อ 1,000 บาท ให้แพทย์หลวงรับไปจำหน่าย ยาที่เสียยอมให้ส่งคืนได้ให้แพทย์ที่ออกทำการปลูกฝีนำยาโอสถสภาออกไปเผยแพร่ด้วย ฯลฯ ในที่สุดราษฎรชนบทที่ลองใช้ยาโอสถสภาก็เห็นคุณของยามากขึ้นโดยลำดับ แพทย์ประจำตำบลบางคนลองเสี่ยงนำออกใช้ดู ครั้นเห็นว่ายาโอสถสภามีสรรพคุณรักษาโรคให้หายได้ชะงัดกว่ายาสมุนไพร ก็เกิดความเชื่อถือ ยาโอสถสภาจึงค่อยแพร่หลายไปในชนบทดังจะเห็นได้จากสถิติการจำหน่าย ดังต่อไปนี้
          พ.ศ. 2449 จำหน่ายได้ 19,743 ตลับ 
         
พ.ศ. 2450 จำหน่ายได้ 80,082 ตลับ 
         
พ.ศ. 2451 จำหน่ายได้ 112,596 ตลับ

          ยาโอสถสภาหรือยาตำราหลวงแผนปัจจุบัน คงทำขึ้นเพียง 8 ขนาน ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2464 รองอำมาตย์โทขุนยำราศนราดูรแพทย์ประจำจังหวัดลพบุรี ในขณะนั้น ได้เสนอความเห็นไปยัง พระพิศณุโลกบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี (ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยานครพระราม) ความว่า "….ยาโอสถศาลา (ภายหลังเรียกว่า ยาตำราหลวง) ที่รัฐบาลทำจำหน่ายเพื่อเป็นการสงเคราะห์ราษฎรในเวลานี้มีเพียง 8 ขนานเท่านั้น โรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ซึ่งราษฎรตามบ้านนอกเป็นกันชุกชุมแลควรจะบำบัดเสียในขั้นต้นยังมีอีกมากแลราษฎรตามบ้านนอกนั้นย่อมหายาดี ๆ ใช้ยากแลแพทย์ที่จะช่วยบำบัดก็ไม่มี เห็นว่าควรมียาโอสถสภาชนิดอื่นเพิ่มขึ้นอีกบ้างตามโรคซึ่งราษฎรเป็นกันชุกชุม เพื่อเป็นการสงเคราะห์ราษฎรช่วยป้องกันหรือบำบัดเสียในขั้นแรก…" และได้เสนอรายชื่อยาที่ควรเพิ่มไปยังกรมสาธารณสุขด้วย กรมสาธารณสุขเห็นชอบด้วยกับความคิดนั้นจึงได้ให้โอสถศาลา รัฐบาลทำการผลิตยาตำราหลวงเพิ่มขึ้นเป็น 25 ขนาน ครั้นต่อมาเมื่อโรงงานเภสัชกรรมกระทรวงสาธารณสุขรับหน้าที่ผลิตยาตำราหลวงสืบต่อจากกองโอสถศาลา รัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ.2487 ก็ได้เพิ่มยาตำราหลวงขึ้นอีก 4 ขนาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2503-2504 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งเพิ่มและลดยาบางขนาน

          ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติ ยาสามัญประจำบ้าน พ.ศ. 2536 ประกาศให้มียาสามัญประจำบ้าน จำนวน 42 รายการ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมผลิตออกจำหน่ายทุกกลุ่มยา ในชื่อยาตำราหลวง จำนวน 37 รายการ ในปี 2542 กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุง ประกาศเรื่องยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันระบุให้มียาสามัญประจำบ้าน จำนวน 53 รายการ องค์การเภสัชกรรมผลิตออกจำหน่าย 21 รายการ และผลิตยาตำราหลวงชุด 7 รายการ และจัดชุดยาตำราหลวงเวชภัณฑ์ประจำรถ First Fid Kid รวมด้วย

การก่อตั้งโรงงานเภสัชกรรม

          ก่อน พ.ศ. 2480 ยารักษาโรคแผนปัจจุบันที่ใช้ในประเทศไทย ต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ยังไม่มีโรงงานสำหรับผลิตยาขึ้นใช้เองภายในประเทศอย่างเป็นระบบอุตสาหกรรม ดร.ตั้ว ลพานุกรม ในสมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ เมื่อก่อตั้งกองเภสัชกรรมขึ้นในปี 2480 เพื่อศึกษาวิเคราะห์วิจัยทางเภสัชกรรมและวิจัยสมุนไพรที่ใช้ทำเป็นยาได้พิจารณาเห็นว่าประเทศไทยต้องสั่งซื้อยาแผนปัจจุบันมาจากต่างประเทศ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ตัวยาหลายชนิดทำมาจากสมุนไพรที่มีอยู่ภายในประเทศ เพียงแต่ยังขาดโรงงานที่จะผลิตให้เป็นยาเข้ามาตรฐานเภสัชตำรับ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะคิดจัดสร้างโรงงานเภสัชกรรมขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อเป็นการประหยัดเงินที่ต้องสั่งยาจากต่างประเทศให้ลดน้อยลงและเพื่อจะได้มียาสำรองไว้ใช้ในประเทศ ป้องกันขาดแคลนแม้ในยามคับขัน และได้เริ่มสร้างโรงงานเภสัชกรรมขึ้นในที่ดิน ซึ่งเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ตำบลพญาไท มีเนื้อที่ 47 ไร่ เมื่อเดือนมกราคม 2482

          อาคารผลิตยาหลังแรกเป็นอาคารชั้นเดียวมีขนาด 20x45 เมตร สร้างเสร็จในเดือน มิถุนายน 2483 สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 36,635 บาท และได้สร้างอาคารประกอบอื่น ๆ เพิ่มขึ้น รวมเป็นเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 71,324 บาท โดยใช้งบประมาณกรมวิทยาศาสตร์ 62,704 บาทและเงินทุนของโรงงาน 8,620 บาท

          ในระยะแรกโรงงานเภสัชกรรมผลิตยาออกจำหน่ายรวม 25 ชนิด ได้แก่ยาฉีด 3 ชนิด ยาเม็ด 7 ชนิด ทิงเจอร์ 9 ชนิด ยาสกัด 1 ชนิด ยาสปิริต 1 ชนิด รวมกับยาที่เคยผลิตมาก่อนตั้งแต่กรมวิทยาศาสตร์ยังเป็นศาลาแยกธาตุอีก 4 ชนิด คือ ยารักษาโรคเรื้อนจากน้ำมันกระเบา 3 ชนิด ยาสกัดวิตามินบี จากรำข้าว 1 ชนิด

          เนื่องจากการดำเนินงานโรงงานเภสัชกรรม มีลักษณะเป็นธุรกิจจัดรูปการบริหารแยกจากกรมวิทยาศาสตร์ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการซึ่งแต่งตั้งโดย อนุมัติของคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมกำกับการดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคนแรก และได้เจรจาทำความตกลงขอกู้เงินจากกระทรวงการคลังจำนวน 5 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายใน 10 ปี เพื่อนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

          การก่อตั้งโรงงานเภสัชกรรมขึ้นนั้น มิใช่จะดำเนินการได้โดยง่าย เนื่องจากมีผู้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการมีโรงงานผลิตยาขึ้นใช้เองไม่มากนักในหมู่ผู้บริหารบ้านเมือง แต่ด้วยเหตุที่ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นคณะผู้ก่อการสำคัญและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยได้เอาใจใส่ชี้แจงติดตามแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องและติดตามประสานงานอย่างใกล้ชิดจนดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปได้

โรงงานเภสัชกรรมเผชิญสงคราม

          ในเดือนธันวาคม 2484 ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ญี่ปุ่นยกกองทัพเข้าสู่ประเทศไทยเครื่องอุปโภคบริโภคเริ่มขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้น การขนส่งสินค้าจากต่างประเทศหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานจากโรงงานเภสัชกรรมเป็นอย่างมากเพราะขาดวัตถุดิบในการผลิตยา

          ในปี 2485 มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และได้มีการจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้น โรงงานเภสัชกรรมต้องพ้นจากการสังกัดในกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ โอนมาเป็นแผนกหนึ่งของกองเภสัชกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2485

          วันที่ 24 มิถุนายน 2485 ได้มีพิธีเปิดโรงงานเภสัชกรรมอย่างเป็นทางการ โดยมี พ.อ.ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในพิธี

          สงครามที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2484 ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดโจมตีกองทัพทหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ประชาชนต้องอพยพหนีภัยออกไปอยู่นอกเมือง โรงงานเภสัชกรรมก็ต้องอพยพทรัพย์สินบางส่วน และย้ายการผลิตบางประเภทไปผลิตยาบางประเภทไปผลิตยาอยู่ที่วัดบางเดื่อ จังหวัดปทุมธานี

          ระหว่างสงครามเริ่มขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค เพราะไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ โดยเฉพาะยารักษาโรคมีราคาแพงมากนับร้อยเท่าของราคาปกติ เนื่องจากการกักตุนสินค้า

          โรงงานเภสัชกรรมซึ่งดำเนินการมาไม่นานนัก ไม่อาจจัดเครื่องจักรกลงใช้ในการผลิตตามโครงการที่วางไว้ ต้องพยายามจัดหาและคัดแปลงเครื่องมือที่ทำขึ้นในประเทศมาใช้ ขาดแคลนวัตถุดิบ ต้องพยายามจัดหาและทำวัตถุดิบขึ้นใช้เอง

          โดยโรงงานเภสัชกรรมก็สามารถผลิตเคมีภัณฑ์และยาจากวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศขึ้นใช้เองได้หลายชนิดเช่น Sodium Choride สำหรับทำน้ำเกลือฉีด,Chloroform, สำหรับดมสลบ Morphine ,Codeine ,Ethyl Alcohol,และ Insulin เป็นต้น ช่วยให้มียาไว้ใช้ในราชการ และบริการประชาชนบรรเทาความขาดแคลนยาในภาวะสงครามได้เป็นอันมากสมตามเจตนารมณ์ของ ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ผู้ให้กำเนิดโรงงานเภสัชกรรม เมื่อสงครามสงบลงในปี 2488 โรงงานเภสัชกรรมสามารถผลิตยาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม 28 ชนิด เป็น 55 ชนิด และมูลค่าผลผลิตเพิ่มจากปีละ 1 แสนบาทเศษ เป็น 7 แสนบาทเศษ

โรงงานเภสัชกรรมหลังภาวะสงคราม

          เมื่อสงครามสิ้นสุดลงใหม่ ๆ การคมนาคมยังไม่สะดวกนัก ความขาดแคลนยารักษาโรคที่เป็นอยู่ในระหว่างภาวะสงคราม ก็ยังคงขาดแคลนอยู่ต่อไปอีก มีเอกชนหลายรายได้จัดตั้งโรงงานผลิตยาขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานชนิดที่มีต้นทุนการผลิตน้อยและไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ยาที่ผลิตได้จึงไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ แต่ก็ขายได้ดี จึงมีผู้เริ่มตั้งโรงงานผลิตยาตามกันขึ้นหลายรายการ

          ในส่วนของโรงงานเภสัชกรรมแม้จะคิดราคาย่อมเยา แต่ก็ขายได้มากจนผลิตไม่ทันขาย จึงทำให้มีผลกำไรพอสมควร เมื่อสถานการณ์ด้านการเงินดีขึ้น โรงงานเภสัชกรรมได้นำส่งเงินกู้จำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี คืนกระทรวงการคลังได้หมดในเดือนมกราคม 2487 เงินกำไรส่วนที่เหลือนำส่งเป็นรายได้รัฐ และได้รับจัดสรรให้เป็นเงินทุนสำหรับดำเนินงานต่อไป เป็นต้น 800,000 บาท

          เมื่อกิจการของโรงงานเภสัชกรรมมั่นคงดีแล้ว กองโอสถศาลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์จำหน่ายให้แก่ส่วนราชการ และปรุงยาตำราหลวงออกจำหน่ายจึงได้มอบหน้าที่การผลิตยาตำราหลวงให้แก่โรงงานเภสัชกรรมโดยกองโอสถศาลาเป็นผู้จำหน่ายด้านเดียว

          ปี 2489 โรงงานเภสัชกรรมได้เริ่มดำเนินการผลิตยาป้องกันโรค ประเภทชีววัตถุ ขึ้นเป็นชนิดแรก คือ วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ (Smallpox Vaccine) โดยได้จัดสร้างอาคารผลิตขึ้นด้วยเงินของโรงงานเภสัชกรรม เป็นเงิน 97,000 บาท แล้วได้ผลิตวัคซีน ท็อกซอยด์ และเซรุ่มพิ่มขึ้นอีกหลายชนิดในเวลาต่อมา

          รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณให้เป็นทุนในปี 2493 เป็นเงิน 4,000,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารผลิตและจัดหาเครื่องจักร และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ จำนวน 3,000,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 1,000,000 บาท และได้ให้เพิ่มขึ้นอีก 6,000,000 บาท ในปี 2494 เพื่อก่อสร้างอาคารผลิตยาอีก 1 ครั้ง

          วันที่ 13 กันยายน 2495 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2495 โรงงานเภสัชกรรมพ้นจากสังกัดในกองเภสัชกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ บริหารงานโดยคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุขตำแหน่ง "ผู้จัดการ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ผู้อำนวยการ"

          กิจการของโรงงานเภสัชกรรมเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก เมื่อปี 2500 โรงงานเภสัชกรรมผลิตยารักษาโรคและป้องกันโรคเพิ่มขึ้นเป็น 195 ชนิด และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7 ล้านบาท

โรงงานเภสัชกรรมยุคหลังปี 2500

          เมื่อหลวงลิขปิธรรมศรีพัตต์พ้นจากตำแหน่งไป ศาสตร์จารย์จำลอง สุวคนธ์ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แทนในเดือนธันวาคม 2500 ต่อมาขุนโอสถสิทธิการซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงงานเภสัชกรรมติดต่อกันมาเป็นเวลาถึง 16 ปี ได้พ้นจากตำแหน่งไปในปี 2502 ด้วยเหตุสูงอายุนายเชย วัณณรถ เลขานุการกรมวิทยาศาสตร์เข้ารับตำแหน่งแทน แต่ก็เป็นอยู่ในระยะเวลาเพียงปีเศษ ก็พ้นจากตำแหน่งไป ศาสตร์จารย์จำลอง สุวคนธ์ ได้เข้ามารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานเภสัชกรรมตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2504 เป็นต้นมา

          พระบำราศนราดูร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในปี 2502 และเป็นประธานกรรมการอำนวยการโรงงานเภสัชกรรมด้วย การขยายงานของโรงงานเภสัชกรรมยังคงดำเนินการต่อไป นอกจากจะขยายงานด้วยเงินของโรงงานเภสัชกรรมเองแล้ว รัฐบาลยังได้จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าก่อสร้างอาคาร เครื่องจักรกล และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ให้กับโรงงานเภสัชกรรม ในระหว่างปี 2507-2509 ติดต่อกัน 3 ปีรวมเป็นเงิน 4,835,970 บาท พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          เมื่อปี 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ โดยทรงห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์ท่าน และมีพระราชประสงค์ที่จะให้โรงงานเภสัชกรรมมีขีดความสามารถในการผลิตน้ำเกลือฉีดได้มากขึ้น เพื่อที่จะมิให้เกิดการขาดแคลนในยามที่มีอหิวาตกโรคระบาด มีน้ำกลั่นสำหรับผลิตน้ำเกลือฉีดได้เพียงพอกับความต้องการ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องกลั่นน้ำ ขนาดกลั่นน้ำได้ชั่วโมงละ 100 แกลลอน 1 เครื่อง (ของบริษัท (Barnstead Still and Sterillzer Co.,USA) ราคา 79,622.42 บาท (ไม่รวมค่าอากรขาเข้า ซึ่งได้รับการยกเว้นกรณีพิเศษ) เครื่องกลั่นน้ำเครื่องนี้ได้เข้ามาถึงเมืองไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2503 และติดตั้งใช้การได้เมื่อปี 2504 ในระยะเวลานั้น ได้มีอหิวาตกโรคระบาดขึ้นอย่างรุนแรงแสมอ เครื่องกลั่นน้ำเครื่องนี้ได้ยังประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยตลอดมาตามพระราชประสงค์ และเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ

จากโรงงานเภสัชกรรมมาเป็นองค์การเภสัชกรรม

          โรงงานเภสัชกรรมดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 20 ปี จากผลการจำหน่ายในปีเริ่มแรกประมาณ 1 แสนบาท ได้เพิ่มขึ้นเป็น 11.05 ล้านบาท ในปี 2502และมีกำไรจากการดำเนินงานตลอดมาทุกปี ก็ต้องประสบกับภาวะขาดทุนในปี 2503 ติดต่อกันมาถึง 2504 แม้ว่ายอดการจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม

          ฯพณฯ พระบำราศนราดูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการโรงงานเภสัชกรรม จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกิจการด้านการบริหารและวิชาการของโรงงานเภสัชกรรม และคณะกรรมการอำนวยการ โรงงานเภสัชกรรมได้แต่งตั้ง นายแพทย์จิตต์ เหมะจุฑา เป็นผู้อำนวยการโรงงานเภสัชกรรม และให้มาปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาจึงทำให้มีการปฏิบัติงานได้ใกล้ชิด และเอาใจใส่ปรับปรุงอย่างจริงจังมากขึ้น ทำให้กิจการดีขึ้นตามลำดับ

          ในช่วงเวลาที่ผ่านมาในการจำหน่ายยาให้แก่ส่วนราชการนั้น เมื่อโรงงานเภสัชกรรมผลิตยาแล้วจำหน่ายให้กองโอสถศาลา กองโอสถศาลาจึงนำไปจำหน่ายให้แก่ส่วนราชการอีกทอดหนึ่งนั้น เป็นการดำเนินงานอย่างซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ควรจะเป็น มีการคิดราคาบวกกำไรถึงสองครั้ง จากโรงงานเภสัชกรรมครั้งหนึ่ง และกองโอสถศาลาบวกกำไรอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ต้นทุนราคาสูงขึ้นอีกด้วย โรงงานเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจส่วนกองโอสถศาลาเป็นส่วนราชการ แบบและลักษณะวิธีการปฏิบัติงานต่างกัน การร่วมมือประสานงานกันก็มีอุปสรรคการปรับปรุงประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดดังกล่าวจึงเป็นไปได้ยาก

          คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกิจการด้านบริหารและวิชาการของโรงงานเภสัชกรรมจึงสรุปข้อพิจารณาว่า "ควรรวมงานของกองโอสถศาลากับโรงงานเภสัชกรรมเข้าด้วยกัน ทั้งนี้เพราะจะทำให้กิจการดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีผู้บังคับบัญชาคนเดียวกัน ไม่ต้องมีคลังเวชภัณฑ์ การบัญชี และอื่น ๆ ซ้ำซ้อนกัน ตัดราคายาให้ต่ำลง เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานราชการ เพราะคิดกำไรจากการผลิตเพียงครั้งเดียว" ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการโรงงานเภสัชกรรม และกระทรวงสาธารณสุขได้เห็นชอบที่จะรวมโรงงานเภสัชกรรมกับกองโอสถศาลาให้เป็นกิจการเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอขอยุบกองโอสถศาลากับโรงงานเภสัชกรรมให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในศักยภาพ และมอบให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาว่าจะให้เป็นส่วนราชการ หรือองค์การโดยกรรมการสาธารณสุขได้มีคำสั่งให้รวมกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2506 เป็นต้นไป

          สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย ตรา พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พุทธศักราช 2509 ให้ไว้ ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2509

          องค์การเภสัชกรรมจากการรวมกิจการของโรงงานเภสัชกรรม และกองโอสถศาลาจึงถือกำเนิดขึ้นนับแต่บัดนั้น และได้เริ่มดำเนินกิจการในฐานะองค์การเภสัชกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 เป็นต้นมา

          โรงงานเภสัชกรรมในปี 2509 แบ่งส่วนงานออกเป็น 7 กองด้วยกันคือ กองอำนวยการ กองการเงินและบัญชี กองคลังเวชภัณฑ์ กองควบคุมคุณภาพและวิจัย กองการผลิต กองชีววัตถุ และกองการจำหน่าย มีพลังงานรวม 260 คน ผลิตยาและเวชภัณฑ์ได้ 368 ชนิด มีมูลค่าในการผลิตประมาณ 14 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรวม 32 ล้านบาทเศษ

          กองโอสถศาลา แบ่งส่วนงานออกเป็น 3 แผนกคือ แผนกคลังเวชภัณฑ์ แผนกจัดและจำหน่ายเวชภัณฑ์ และแผนกปรุงยา มีเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิน 89 คน มียอดการจำหน่ายในปี 2507 ประมาณ26 ล้านบาทเศษ มีทรัพย์สินรวม 15 ล้านบาทเศษ

          พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 กำหนดทุนขององค์การเภสัชกรรมไว้เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท โดยถือเอาเงินหมุนเวียนเวชภัณฑ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับเงินทุนของโรงงานเภสัชกรรม เป็นทุนประเดิมและรัฐบาลจะจ่ายเพิ่มเติมเป็นคราว ๆ ตามจำนวนที่รัฐบาลพิจารณาเห็นสมควร

          ทุนเมื่อเริ่มดำเนินกิจการได้รับมาจากกองโอสถศาลา 15.84 ล้านบาท จากโรงงานเภสัชกรรม 32.19 ล้านบาท และจากงบประมาณรัฐบาล 1.11ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 49.15 ล้านบาท

          และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าเพื่อสืบทอดภารกิจและเจตนารมณ์ที่จะอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนต่อไปในนามของ "องค์การเภสัชกรรม"